การป้องกันการติดสารเสพติด และสิบ “สร้าง” ปราการของครอบครัวให้พ้นภัยสารเสพติด

16 ม.ค. 2024
icon-share
แชร์

การติดสารเสพติดถือเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง มีปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่นอนเป็นโรคร้ายแรง รักษาให้หายขาดได้ยาก มักจะติดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกาย ต่อชีวิตและครอบครัว ส่งผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อมิให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติด

  • การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงที่สามารถวิจัยและพิสูจน์ว่าได้ผลเสมอโดยทั่วไปแบ่งการป้องกันออกมาเป็น 3 ระยะ ดังนี้
  1. การป้องกันด่านแรก (primary prevention) ป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดโรคคือป้องกันไม่ให้ทดลองใช้ยานั่นเอง
  2. การป้องกันด่านที่ 2 (secondary prevention) ป้องกันไม่ให้มีการใช้ยาต่อไป ในกรณีที่มีการลองยาเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มรการเปลี่ยนแปลงทางสมอง จิตใจ และทางสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่โรคติดสารเสพติดในที่สุด
  3. การป้องกันด่านสุดท้าย (tertiary prevention) ป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง โดยป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายต่อชีวิต จิตใจ และสังคม ทำได้โดยการให้การบำบัดเสียเนิ่นๆ

การป้องกันจะต้องทำครบทั้ง 3 อย่าง จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้ และจำนวนผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ติดยาเสพติดก่อนอายุ 16 ปี จึงควรป้องกันในระดับเยาวชนเป็นสำคัญ

สาเหตุของการติดยาเสพติด
อธิบายได้ด้วยทฤษฎี “ชีวะจิตตะสังคม” (bio-psycho-social model of addiction)

  1. ตัวบุคคล ได้แก่ ความเปราะบาง (vulnerability) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะติดยา หรือเป็นความฉับไวทางพันธุกรรมต่อการติดยา แต่เราสามารถสร้างปัจจัยทางบวกเพื่อให้อิทธิพลของกรรมพันธุ์ลดน้อยหรือหายไป และเรายังสามารถที่จะลดปัจจัยทางลบเพื่อลดอิทธิพลของพันธุกรรมได้อีกด้วย ถึงแม้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมสูง แต่ถ้าไม่ทดลองยาเสพติดก็ไม่มีโอกาสติดยา
  2. สารที่เป็นยาเสพติดนั้น จะต้องเข้าไปออกฤทธิ์ที่สมองบางส่วน ทำให้มีการหลั่งสารเคมีบางอย่าง ออกมามากมาย สารเคมีเหล่านี้ทำให้มีความสุข ลดความรู้สึกทุกข์ได้ เมื่อใช้ยาบ่อยๆ สมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องพึ่งยาเสพติดเท่านั้น จึงจะอยู่ได้
  • สารบางอย่างจะออกฤทธิ์แรง จึงทำให้ติดง่าย
  • แม้จะไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม หากใช้ยาเสพติดบ่อยๆเข้า สมองจะเปลี่ยนสภาพไป ทำให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติดได้เช่นกัน การป้องกันต้องเน้นการสร้างทักษะในการแสวงหาความสุขและลดความทุกข์โดยไม่ใช้ยาเสพติด

3. สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อการติด 25%

  • สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ จะเป็นการสร้างปัจจัยทางบวก และลดปัจจัยทางลบต่อการติดยา
  • สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวชักนำให้ “ตัวบุคคล” มาพบกับ “ตัวสาร” คือทำให้เกิดการลองยา
  • สิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวเกื้อหนุนให้มีการใช้ยาต่อไป

การป้องกันจึงต้องเข้าใจและการจัดการกับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมจึงจะได้ผลได้

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิค “ 10 สร้าง ” หัวใจของการเลี้ยงลูกให้พ้นภัยยาเสพ คือ การสร้าง “สิบสร้างทรงพลัง” ซึ่งนำไปปฏิบัติได้ง่ายไม่สลับซับซ้อน เรียนรู้และฝึกหัดกันได้ไม่ยากนัก ได้แก่

สร้างที่หนึ่ง คือ “สร้างเวลาที่มีคุณภาพ”
สภาวะสังคมปัจจุบันแม้ว่าจะบีบรัดทุกคนรีบร้อน เวลาหายากต่างคนต่างไปตั้งแต่เช้ามืดจวบเย็นค่ำ แทบไม่เห็นหน้ากัน แต่การให้เวลาซึ่งกันและกันในครอบครัวไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน ขอให้เป็นเวลาที่มีความหมาย คือใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า เป็นประโยชน์ เป็น “เวลาคุณภาพ” มีเวลาให้กันวันละนิด จิตแจ่มใสถ้วนทั่วในครัวเรือน

สร้างที่สอง คือ “สร้างการสื่อสารที่มีคุณภาพ”
ในสังคมปัจจุบันนี้ ช่องว่างระหว่างรุ่นมีมากเหลือเกิน พ่อแม่จะใช้สิทธิที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” สั่งสอนหรืออบรมลูกวัยรุ่นให้ “เห็นดี เห็นชอบ” โดยไม่คำนึงถึงสังคมของลูก คงไม่ได้ผลดีนัก บ่อยครั้งที่ลูกรักจะมีปฏิกิริยาโต้กลับแบบ “ต่อหน้ารับฟัง ลับหลังดื้อรัน” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างระบบการสื่อสารแบบไปกลับสองทาง รู้จักพูด รู้จักฟัง รู้จักออกความเห็น รู้จักวิจารณ์ รู้จักชม รู้จักตำหนิ รู้จักรับรู้ในความรู้สึกของผู้อื่น เรียกว่าฝึกลูกและตนเองให้ “พูดกันรู้เรื่อง” หันมาฟังลูกและรับรู้ในความรู้สึกและความนึกคิดของลูกได้ จะดียิ่ง

สร้างที่สาม คือ “สร้างการรู้คุณค่าของตัวเอง”
มีผู้วิจัยพบว่าเด็กที่มีมุมมองในแง่ดีต่อตนเอง รู้แจ้งเห็นจริงในจิตสำนึกว่า “ของดีตนมีอยู่” ไม่โอ้อวดแต่มีศักดิ์ศรี มีโอกาสติดยาเสพติดน้อยมาก สิ่งดีเหล่านี้ได้มาจากการฝึกให้มองตนเอง มองพ่อแม่ พี่น้อง มองผู้อื่น และมองโลกในแง่ดี จึงควรฝึกลูกให้นึกถึงแต่สิ่งดีงามประจำตัว วันละข้อสองข้อจนติดเป็นนิสัย ฝึกให้รู้จักชมสมาชิกในครอบครัววันละอย่างสองอย่าง ฝึกให้รู้จักมองเห็นข้อดีของคนอื่น ฝึกให้รู้จักให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยความจริงใจ ไม่ประจบสอพลอ “คิดดี”ต่อตัวเองเท่าไร ย่อมไม่ลองยาเสพติดเท่านั้น ให้ส่งจิตสู่ใจด้วยไมตรีเป็นนิจศีล

สร้างที่สี่ คือ “สร้างกฎระเบียบในบ้าน”
ให้มีกฎเกณฑ์และกติกาการอยู่ร่วมกัน โดยทำความตกลงกันก่อน วางกฎการไม่ใช้ยาเสพติด รวมทั้งบุหรี่หรือเหล้า วางข้อยกเว้นให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ วางข้อลงโทษที่นำไปปฏิบัติได้ ไม่ออกกฎและลงโทษตามอารมณ์หรือเกินกว่าเหตุ เช่น ตัดขาดจากความเป็นแม่ลูกกัน ไม่ใจอ่อนเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงโทษ มีกฎระเบียบเกี่ยวกับยาเสพติดในบ้านให้ชัดเจน จึงจะดี

สร้างที่ห้า คือ “สร้างหน้าที่และความรับผิดชอบ”
โดยแบ่งงานบ้านให้ทำ เพื่อฝึกให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ฝึกให้รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเริ่มจากทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ฝึกให้รู้จักช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสกว่า เป็นการลดความเห็นแก่ตัวซึ่งจะเพิ่มศักดิ์ศรีของตนเองและยังส่งผลให้ “ดูแลตัวเอง” ในภายหลัง หัดให้ลูกทำงานบ้านและเสียสละเป็นบ้าง

สร้างที่หก คือ “สร้างทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์”
ความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ได้แก่ อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย มักเป็นแม่เหล็กยักษ์ผลักลูกให้เข้าหายาเสพติด จึงจำเป็นต้องฝึกลูกให้รู้จักจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ ฝึกให้รู้ว่าเมื่อไรเครียดหรือมีอารมณ์ไม่ดี รู้ถึงผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม รู้จักหาสาเหตุและฝึกวิธีคลายเครียดและระบายอารมณ์ให้เป็น พ่อแม่ควรถามทุกข์สุขของลูกอยู่เสมอ ช่วยให้ลูกรู้จักอ่านความเครียดและอ่านอารมณ์ของผู้อื่น ฝึกให้รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หมั่นฝึกซ้อมกับลูกเพื่อให้เกิดทักษะในการผ่อนคลายความเครียดและระบายอารมณ์ให้เหมาะสม ฝึกลูกให้เก่งในการจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ดีแน่ๆ

สร้างที่เจ็ด คือ “สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของลูก”
ครอบครัวปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ ถือเพื่อนเป็นเรื่องใหญ่ ลูกยังด้อยประสบการณ์ในชีวิต โอกาสคบเพื่อนผิดมีมาก พ่อแม่จึงต้องรู้จักกับเพื่อนและสังคมนอกบ้านของลูก ฝึกให้แยกเพื่อนดีออกจากเพื่อนชั่ว พร้อมช่วยลูกยามที่คบเพื่อนผิด ควรรู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกด้วย จะได้เป็นแนวร่วมปรึกษาและอาจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อลูกร่วมกัน รู้จักแหล่งสถานที่เสี่ยงต่อการเสพสารเสพติดและสิ่งมึนเมา เพื่อชี้แนะให้ลูกหลบหลีก รู้จักสังคมออนไลน์บนโลกอินเตอร์เน็ตคอมพิวเตอร์เช่นการที่ลูกใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆทั้งวันคุยกับเพื่อนจนพฤติกรรอารมณ์เปลี่ยนไปไม่เหมาะสม นั้นจึงจะเรียกว่า “รู้จักสังคมของลูกดีจริง”

สร้างที่แปด คือ “สร้างความรู้เรื่องยาเสพติดให้แก่ลูก”
มีการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับความรู้เรื่องยาเสพติดจากพ่อแม่โดยตรงกว่า 40% จะไม่ลองยา และเด็กส่วนใหญ่อยากจะได้รับความรู้ด้านนี้จากพ่อแม่มากกว่าเพื่อนฝูง พ่อแม่จึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด หาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อพูดคุยกับลูก ให้ข้อเท็จจริงเจาะลึกผลดี-ผลเสีย และให้ลูกแสดงความคิดเห็นและสิ่งที่เขาเรียนรู้มาจากเพื่อนให้ความรู้เรื่องยาเสพติดแก่ลูกดีแน่แท้

สร้างที่เก้า คือ “สร้างทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ”
ฝึกลูกให้ “คิดเป็น” คือรู้จักแยกแยะปัญหา รู้จักหาทางแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นไปได้ รู้จักไตร่ตรองถึงข้อดีและข้อเสีย โดยชั่งน้ำหนักผลกระทบและรู้จักทำการตัดสินใจโดยมีสติปัญญากำกับ ให้ฝึกทักษะด้านนี้จากชีวิตจริงของลูก โดยพ่อแม่สนับสนุนให้นำปัญหามาถกเถียงหาสาเหตุและทางแก้ไข เมื่อพลาดผิดไป ช่วยลูกให้รู้จักหาสาเหตุและยึดไว้เป็นบทเรียน ฝึกลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ตัดสินใจเป็น

สร้างที่สิบ คือ “สร้างทักษะการปฏิเสธยาเสพติด”
ต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้ว่าการปฏิเสธเป็น คือสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของผู้ใหญ่ที่กล้าหาญ เด็กทั่วไปเมื่อเผชิญกับสิ่งยั่วยุ และแรงกดดันให้ใช้ยา มักวางตัวไม่ถูก ตกเป็นเหยื่อชักจูงให้ลองยาได้ง่าย พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมกับลูกอยู่เสมอ โดยสมมติเหตุการณ์ขึ้น เล่นละครซ้อมบทกันให้สมจริง เพื่อให้ลูกรู้จักเทคนิคปฏิเสธยาในสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ฝึกลูกให้รู้จักสถานที่ ยั่วยุให้ใช้ยา ฝึกให้ลูกรู้จักผลกระทบที่แท้จริงของสื่อโฆษณาและการเผยแพร่ซุปเปอร์สตาร์ที่ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่หรือเสพยาเสพติด ว่าการเลียนแบบสื่อหรือดารามีผลร้ายอย่างไรบ้าง ฝึกลูกให้มีทักษะในการปฏิเสธสารเสพติดอย่างได้ผล

อย่าได้ท้อแท้ใจว่า “สิบสร้าง” นี้ทำยากเพราะไม่มีเวลา รักลูกเสียอย่างเวลาหาได้แน่ หมั่นสร้างสิบสิ่งนี้ จะป้องกันลูกให้พ้นภัยยาเสพติดได้แน่นอน ลูกจะเติบโตเป็นคนคิดเป็น ดูแลตัวเองเป็น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำการงานสำเร็จเป็นคนดีและมีชีวิตที่เป็นสุข

อ้างอิงจาก
ทรงเกียรติ ปิยะกะ. 2543. คู่มือการป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสา สำหรับประชาคมไทย. กรุงเทพฯ:ธนาเพรส.
ทรงเกียรติ ปิยะกะ. (2444). เลี้ยงลูกอย่างไรให้พ้นภัยยาเสพติด.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน.

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชยาเสพติด
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
ผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด
กรมสุขภาพจิต

บทความที่เกี่ยวข้อง

หลักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

5 ก.ค. 2024

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ มีดังนี้การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่จะส่งเสริมสุขภาพป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติได้ทุกคนและทุกสภาพร่างกาย ถ

อ่านต่อ...

ปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุ

1 ก.พ. 2024

ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมาก และผู้สูงอายุเป็น กลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเรื่อยมา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของวัยผู้ สูงอายุนั้นคือการเปลี่ยนแปลง ไ

อ่านต่อ...

การทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข

1 ก.พ. 2024

ความสุขของมนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้ การจะทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีความสุขนั้น ตัวเราจะต้องมีความพร้อม และความพึงพอใจในงานที่จะทำ และต้องทำงานนั้นด้วยใจรักและทำอย่างมีความสุข การมีสุขภาพกายท

อ่านต่อ...

ติดต่อเรา

มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ

112 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600

02-439-0357

FOLLOW US

Chat