โครงการก่อสร้างอาคารราชสาทิส


ที่ตั้งอาคารราชสาทิสหลังเดิมเป็นที่ตั้งของเรือนพยับหมอก เป็นเรือนผู้ป่วยพิเศษชาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นค่าก่อสร้างในปี พุทธศักราช 2488 และได้ใช้ในกิจการบำบัดรักษาผู้ป่วยอยู่นานถึง 14 ปี (จากหนังสือ 100 ปี จิตเวช หน้า 36,37 และหนังสือ 80 ปี จิตเวช บรรยายภาพ)
ต่อมาเรือนพยับหมอกได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก ในปี พุทธศักราช 2502 จึงได้มีการสร้างอาคารผู้ป่วยในพิเศษจิตเวชชายขึ้น 1 หลังทดแทน เรือนพยับหมอกเป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องผู้ป่วยจำนวน 20 ห้อง เงินที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร์ภาคใต้ เป็นเงิน 409,000 บาท และผู้มีจิตกุศลบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกจำนวน 91,000 บาท และทรงพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า ราชสาทิส ความหมายของราชสาทิสคือพระราชาทรงเจาะจง (พระราชทาน) ร่วมด้วย * ตามเอกสารหมายเลข 1 ,2 และ 3 อาคารหลังนี้เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2503 (ตามเอกสารหมายเลข 4,5,6,7 และ 8) อาคารหลังนี้ได้ใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายอย่างต่อเนื่องนานถึง 40 ปี สภาพของอาคารอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้ง และได้ปรับปรุงซ่อมแซมครั้งสุดท้ายเมื่อปีพุทธศักราช 2541 ด้วยงบประมาณเงินบำรุงโรงพยาบาล 210,000 บาท เพื่อให้อาคารยังพอใช้ได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ในปีพุทธศักราช 2541 มีอาคารผู้ป่วยในจิตเวชชายหลายหลัง อาทิ อาคารราชสาทิส อาคารรสสุคนธ์ และอาคารพยับหมอก (อาคารพยับหมอกหลังนี้ เป็นอาคารผู้ป่วยสามัญจิตเวชชาย ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ แต่ใช้ชื่อว่าอาคารพยับหมอก เพื่อทดแทนอาคารพยับหมอกหลังเดิม ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย ซึ่งถูกรื้อถอนออกไปในปี พุทธศักราช 2502 ) มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ปูนที่ฉาบไว้ตามผนังอาคาร ตามมีรอยแตกร้าวและร่อนออกมา จนมองเห็นเหล็กเสริมภายในเป็นสนิมผุกร่อน โรงพยาบาลเกรงว่าอาคารเหล่านี้จะชำรุดทรุดโทรมมากขึ้น จนพังทลายลงมาจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงาน จึงได้ประสานติดต่อไปยังกองแบบแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่งวิศวกรรมทำการตรวจสอบ กองแบบแผนได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2541 แจ้งผลการตรวจสอบอาคาร 2 หลัง คือ อาคารรสสุคนธ์ และอาคารพยับหมอกว่าอาคาร 2 หลังดังกล่าวอาจพังทลายลงมาเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งยังยากแก่การปรับปรุงซ่อมแซม และหากปรับปรุงซ่อมแซมจะไม่คุ้มค่า เพราต้องเสียเงินลงทุนสูง จึงไม่สมควรที่จะใช้งานต่อไป และสมควรให้รื้อถอนออกไปเสีย โรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องระงับการใช้อาคาร 2 หลัง ดังกล่าว และทำการรื้อถอนออกไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชชายอย่างมาก คือสถานที่ที่จะรับผู้ป่วยจิตเวชชาย ที่มีอาการทางจิตรุนแรงไว้ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจิตเวชชายที่รับไว้ในโรงพยาบาลก็ต้องอยู่กันอย่างแออัด บางตึกผู้ป่วยต้องนอนกับพื้น เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ คือเอาเตียงนอนออกจะได้มีที่นอนมากขึ้น อยู่ร่วมกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากในระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงระยะเวลาที่มีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการเสพยาบ้าจำนวนมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีอาการทางจิตรุนแรง มีความจำเป็นจะต้องรับไว้รักษาภายในโรงพยาบาล ถ้าหากไม่รับไว้รักษาภายในโรงพยาบาล อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง หรือผู้ใกล้ชิด หรือสังคม สร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้ให้การรักษาพยาบาล
ปีพุทธศักราช 2542 โรงพยาบาลจึงได้ดำเนินการของบประมาณ จำนวน 50 ล้านบาทจากรัฐบาล โดยผ่านกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในสามัญจิตเวชชาย สูง 5 ชั้น จำนวน 1 หลัง และได้รับการอนุมัติในปีพุทธศักราช 2544 จำนวน 42,520,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายแพทย์วินัย วิริยกิจจา และนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีและรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตในขณะนั้น เนื่องจากงบประมาณที่ได้จำนวน 42,520,000 บาท ยังไม่เพียงพอ เมื่ออาคารสร้างเสร็จเรียบร้อยยังจะต้องมีงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจัดซื้อครุภัณฑ์ทั่วไป และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และการตบแต่งภายในประกอบกับผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน มีอาการทางจิตรุนแรงเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเรื้อรังนั้น เมื่อให้การรักษาจนอาการทางจิตสงบแล้ว แพทย์ผู้รักษาจะให้ผู้ป่วยกลับบ้าน แต่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามนัดผู้ป่วยเหล่านี้ ญาติมักจะไม่ยอมรับผู้ป่วยกลับบ้าน ผู้ป่วยบางรายก็เป็นผู้ป่วยจิตเวชเร่รอนไม่มีญาติ ตำรวจนำส่งโรงพยาบาล เมื่อรักษาจนอาการทางจิตสงบแล้ว ก็ไม่สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ถูกทอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาล มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นภาระกับโรงพยาบาลในด้านงบประมาณอย่างมาก
นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ระหว่างปี พุทธศักราช 2539 ถึง พุทธศักราช 2545 ) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการขณะนั้น มีความคิดว่าการจะดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพที่ดีนั้น ทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล สถานที่พักอาศัย ความเป็นอยู่ ลำพังเฉพาะงบประมาณจากทางราชการอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีเงินนอกงบประมาณให้การสนับสนุน เช่น งบประมาณจากองค์กรสาธารณกุศล หรือ จากผู้มีจิตกุศลบริจาค จึงดำริที่จะจัดรายการการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ หารายได้จำนวนหนึ่ง เพื่อสบทบทุนในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในสามัญจิตเวชชาย จัดซื้อครุภัณฑ์ทั่วไป ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ที่ถูกทอดทิ้งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้เข้าใจโรงพยาบาลจิตเวช และผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่ มีความรู้สึกว่าผู้ป่วยจิตเวชเป็นบุคคลที่น่ากลัว น่ารังเกียจ ครอบครัวที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคจิต มีความรู้สึกว่าเป็นที่อับอายขายหน้า ญาติมักจะปิดบังซ่อนเร้น ประกอบกับตัวผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชขาดความดูแลเอาใจใส่ และถูกทอดทิ้งจากญาติและสังคม การจัดรายการพิเศษการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็นการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ให้เข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเวชก็เหมือนกับผู้ป่วยทางกาย หรือผู้พิการทางกาย ผู้ป่วยจิตเวชบางรายสามารถรักษาให้หายได้ บางรายถึงแม้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าหากได้รับการรักษาโดยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากญาติ ผู้ป่วยจิตเวชก็สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างปกติสุข เหมือนบุคคลทั่วไป สังคมจะได้ให้ความเมตตากับผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น การทอดทิ้งผู้ป่วยจิตเวชไว้ในโรงพยาบาลจะได้ลดจำนวนน้อยลง
การดำเนินการจัดงานการกุศล ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อหารายได้ครั้งแรก นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง ได้เรียนปรึกษาอาจารย์นายแพทย์ชูทิตย์ ปานปรีชา ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขณะนั้น คณะกรรมการมูลนิธิ และคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จะจัดรายการการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในจิตเวชชาย สูง 5 ชั้น ซื้อครุภัณฑ์ทั่วไป ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชยากไร้ โดยจะจัดในนามมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และก็ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณสมพงศ์ วิสุทธิแพทย์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น อนุญาตให้ใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 จัดรายการพิเศษการกุศล เพื่อหารายได้ให้แก่มูลนิธิ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรงได้ไปกราบเรียนปรึกษา และกราบเรียนเชิญคุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ช่วยเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายหารายได้ ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรจัดงานการกุศลหารายได้ในระยะนี้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะตกต่ำหาผู้บริจาคยาก ได้พยายามกราบเรียนชี้แจงท่านถึงความจำเป็นในการจัดงานการกุศลครั้งนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีสถานที่เพียงพอที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงไว้ในโรงพยาบาล สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลในการให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วย สำหรับเงินบริจาคที่ได้จากการจัดงานจะได้มากหรือน้อย ไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญ จุดประสงค์หลักของการจัดงานการกุศลครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของโรงพยาบาล และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และผู้ป่วยจิตเวช ในที่สุดท่านก็ให้ความเมตตาให้เกียรติเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายหารายได้ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์มูลนิธิได้กราบเรียนเชิญ ท่านพลเอกสุจินดา คราปรายูร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอาจารย์จีรพันธ์ คราปรายูร เป็นผู้ช่วยประสานติดต่อและดำเนินการ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน มูลนิธิได้กราบเรียนเชิญท่าน พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกในขณะนั้น โดยพลเอก บุญรอด สมทัศน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบก เป็นผู้ประสานติดต่อและดำเนินการ มูลนิธิได้กราบเรียนและเรียนเชิญท่านผู้มีเกียรติ และท่านผู้มีจิตกุศลจำนวนหลายท่านมาเป็นกรรมการในการจัดงานการกุศลครั้งนี้
จากการประชุมคณะกรรมการการจัดงาน ที่ประชุมมีมติเนื้อหาสาระสำคัญในการจัดงานการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ครั้งที่ 1 มีดังนี้
เปลี่ยนสถานที่จัดงานจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เนื่องจากว่าประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน เป็นท่านผู้บัญชาการทหารบก สำหรับค่าใช้จ่ายในการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ใช้ชื่อในการจัดงานการกุศลครั้งนี้ว่า มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาร่วมกับกองทัพบก จัดรายการพิเศษการกุศล ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 “สายธารศรัทธาสู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) 111 ปี ” ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2543 เวลา 22.00 น. ถึง 00.30 น. คุณอุษา มนต์เสรีนุสรณ์ รองประธานคณะกรรมการการอำนวยการ ได้เสนอที่ประชุม ให้มูลนิธิ ฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาต ให้มูลนิธิ ฯ จัดทำเข็มทองฝังเพชรพระปรมาภิไธยย่อ “สธ” มอบให้แก่ผู้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิ ฯ จำนวน 150,000 บาทขึ้นไป เพื่อเป็นศิริมงคลและเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาค พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิ ฯ ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อผู้บริจาค และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
ผู้มีจิตกุศลประเดิมบริจาคเป็นรายแรกคือ คุณถนอมฤดี แสงอุทัย มารดาคุณหญิงส่องแสง แสงอุทัย บริจาคให้ 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) รายได้ที่ได้รับจากการจัดงานการกุศลครั้งแรก “สายธารศรัทธาสู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) 111 ปี ” ณ . วันที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 เป็นเงิน 31,711,958 บาท

ความเป็นมาการก่อสร้างอาคารราชสาทิสหลังใหม่
สืบเนื่องจากการจัดงานการกุศลครั้งที่ 1 ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมากถึง 31,711,958 บาท และหลังจากสมทบทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยสามัญจิตเวชชาย สูง 5 ชั้น และซื้อครุภัณฑ์ ยังมีเงินเหลืออีกจำนวนหนึ่ง พอที่จะเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายอีก 1 หลัง ประกอบกับในขณะนั้นเงินบำรุง ของโรงพยาบาลมีอยู่ 120 ล้าน บาท และอาคารราชสาทิสซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ก่อสร้างขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เช่นเดียวกัน และอาคารหลังนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ด้านประวัติศาสตร์การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง จึงดำริที่จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษ จิตเวชชายขึ้นอีกหนึ่งหลังทดแทนอาคารราชสาทิส เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและผู้ป่วยจิตเวช อาคารที่จะก่อสร้างใหม่นี้เป็นอาคารสูง 9 ชั้น งบประมาณในการก่อสร้าง 120 ล้านบาท เป็นเงินบำรุงของโรงพยาบาล 60 ล้านบาท เงินส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 60 ล้านบาท จะเป็นเงินจากผู้มีจิตกุศลร่วมบริจาค คือส่วนหนึ่งจากการจัดงานการกุศล “สายธารศรัทธา สู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) 111 ปี ” พุทธศักราช 2543 ที่เหลืออยู่ ส่วนเงินที่ยังขาดอยู่จะจัดรายการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในปีพุทธศักราช 2544 และ ปีพุทธศักราช 2545 เพื่อหารายได้สมทบ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวปรึกษาคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล คณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ และคณะกรรมการจัดงานหารายได้ คณะกรรมการทุกท่านเห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายหลังใหม่นี้
ในปีพุทธศักราช 2544 มูลนิธิ ฯ จึงได้มอบให้ นายวิโรจน์ นรไกร สถาปนิก และนายสมศักดิ์ อัครนวเสรี วิศวกร จากกองแบบแผนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกแบบ เป็นอาคารสูง 9 ชั้น เนื้อที่ใช้สอย 8,557 ตารางเมตร วงเงินในการก่อสร้าง 120 ล้านบาท รายละเอียดอาคารมีดังนี้
ชั้นที่ 1 เป็นหน่วยงานให้การรักษาผู้ป่วยด้วยไฟฟ้า
ชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 5 เป็นผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย
ชั้นที่ 6 เป็นหน่วยงานห้องสมุด
ชั้นที่ 7 เป็นหน่วยงานพิพิทธภัณฑ์
ชั้นที่ 8 เป็นห้องบรรยาย และห้องประชุมเล็ก
ชั้นที่ 9 เป็นห้องประชุมใหญ่
เมื่อแบบอาคารเสร็จเรียบร้อย สถาบันได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมแบบอาคารก่อสร้าง เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รื้อถอนอาคารราชสาทิสออก สร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นทดแทน ใช้ชื่ออาคารหลังใหม่นี้ว่า “ราชสาทิส” เหมือนเดิม และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2544 (ตามเอกสารหมายเลข 9)
ในปีพุทธศักราช 2544 มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาได้มีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นศิริมงคล สมควรจารึกไว้ในประวัติมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง มีดำริขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงรับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาไว้ในพระราชูปถัมภ์ จึงได้ไปกราบเรียนปรึกษาคุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ท่านก็ได้ให้ความอนุเคราะห์ประสานดำเนินการ ติดต่อกับกองงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จนในที่สุดมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2544 (ตามเอกสารหมายเลข 10 )
ในปีพุทธศักราช 2544 นี้ มูลนิธิได้จัดงานการกุศลครั้งที่ 2 เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายจัดในนาม มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก จัดรายการการกุศล “สายธารศรัทธาสู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) 112 ปี ” ณ. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2543 เวลา 22.15 น. ถึง 00.45 น. ณ.วันที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2544 ได้รับเงินบริจาค 28,050,282 บาท
ในปีพุทธศักราช 2545 คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ได้ปรารภกับคณะกรรมการจัดงานว่า อาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้ น่าจะขอพระราชทาน พระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นอาคาร ภ.ป.ร. คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ และ นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง จึงได้ไปกราบเรียนปรึกษาท่านราชเลขา ดร.อาษา สารสิน ได้รับความเมตตาจากท่านให้ข้อเสนอแนะ ต่าง ๆ สถาบันได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 สำนักงานราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวังได้มีหนังสือแจ้งมายังสถาบันความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษร พระปรมภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มาประดิษฐาน ณ อาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชายที่จะสร้างทดแทนอาคารราชสาทิส (ตามเอกสารหมายเลข 11) ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างมากแก่คณะกรรมการจัดงาน คณะกรรมการมูลนิธิ และบุคลากรของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
ในปีพุทธศักราช 2545 มูลนิธิ ฯ ได้จัดงานการกุศลอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย จัดในนาม มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก จัดหารายได้พิเศษการกุศล “สายธารศรัทธาสู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) 113 ปี ” ณ. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในวันศุกร์ที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2545 เวลา 22.00 น. ถึง 00.45 น. ณ. วันที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2545 ได้รับเงินบริจาค 32,546,808.58 บาท
การจัดงานการกุศล ทั้ง 3 ครั้ง ในปีพุทธศักราช 2543 , พุทธศักราช 2544 และ พุทธศักราช 2545 ได้เงินรวมทั้งสิ้น 92,309,044.08 บาท
การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย(อาคารราชสาทิสหลังใหม่) ได้ดำเนิน การเปิดซองประกวดราคาจ้าง เมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2545 นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง เป็นประธานเปิดซองประกวดราคาจ้าง มีผู้เข้าเสนอราคาทั้งหมด 11 ราย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ได้พิจารณาใบเสนอราคาแล้ว บริษัทพิพิธชาญ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินจำนวน 96,873,681.36 บาท (เก้าสิบหกล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นสามพันหกร้อยแปดสิบเอ็ดบาทสามสิบหกสตางค์) ซึ่งต่ำกว่าราคากลางของกองแบบแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ราคากลางของอาคารหลังนี้ที่กองแบบแผนกำหนดไว้ 136,570,800 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบหกล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นแปดร้อยบาท) การก่อสร้างได้เริ่มปลายปี พุทธศักราช 2546 โดยมีการยกเสาเอกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2546 และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2547 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธี (ตามเอกสารหมายเลข 12 และ 13) อาคารหลังนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี พุทธศักราช 2549
การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย (อาคารราชสาทิสหลังใหม่) เมื่อแล้วเสร็จ มูลนิธิ ฯ ยังมีเงินเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากผลการเปิดซองประกวดราคาการก่อสร้างอาคารหลังนี้ มีราคาต่ำกว่าราคากลางที่กองแบบแผน สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ถึง 40 ล้านบาท นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง จึงได้เรียนปรึกษาคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล คณะกรรมการมูลนิธิ และคณะกรรม การจัดงานหารายได้ จะนำเงินส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษชาย ไปเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชหญิงอีก 1 หลัง เพื่อทดแทนอาคารผู้ป่วยจิตเวชหญิงหลายหลัง ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมากเช่นเดียวกัน เป็นอาคารสูง 9 ชั้น รับผู้ป่วยได้ประมาณ 300 ราย งบประมาณในการก่อสร้าง 150 ล้านบาท จะเป็นเงินจากผู้มีจิตกุศลร่วมบริจาคทั้งสิ้น เงินส่วนที่ยังขาดอยู่มูลนิธิ ฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะจัดรายการพิเศษการกุศลทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เหมือนที่ผ่านมา เชิญชวนผู้มีจิตกุศลร่วมบริจาคสมทบทุนส่วนที่ยังขาดอยู่

การก่อสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษจิตเวชชาย (อาคารราชสาทิสหลังใหม่) ได้สำเร็จเรียบร้อย ได้มาจากเงินบริจาคของผู้มีจิตกุศล จากการเสียสละทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจของคณะกรรมการจัดงาน คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ ฯ และบุคลากรของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาทุก ๆ ท่าน หน่วย งานและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์ ยูบีซี สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กรมสุขภาพจิต หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน มูลนิธิโรง พยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารหลังนี้