ผู้เขียน: developer

ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมาก และผู้สูงอายุเป็น กลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเรื่อยมา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของวัยผู้ สูงอายุนั้นคือการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนในด้านของจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ในวัยของผู้สูงอายุนี้จะประสบกับการสูญเสียเป็นจำนวนมาก เช่น ความเจ็บป่วย การเกษียณอายุ การเสียชีวิตของบุคคลที่รัก นอกจากนี้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้เกิดภาวะที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว อยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก ทำให้ผู้สูงอายุขาดการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชตามมาได้
ปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
- ภาวะซึมเศร้า
พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งสาเหตุทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ หมดความกระตือรือร้น แยกตัวเอง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองตนเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น ถ้ามีอาการมากจะมี คิดอยากตายหรือคิดฆ่าตัวตาย บางรายอาจมีอาการหูแว่ว หวาดระแวงร่วมด้วยได้ สำหรับผู้ป่วยสูงอายุส่วนมากมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการทางกายต่างๆเช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง และจะมีปัญหาความจำมากกว่าที่จะบอกว่าตนเองเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ เนื่องจากภาวะซึมเศร้านั้นสามารถรักษาหายได้และผู้สูงอายุสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติดังนั้นหากพบว่าผู้สูงอายุในบ้านมีความผิดปกติญาติควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อประเมินสาเหตุและความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า แพทย์จะได้ให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย - กลุ่มอาการโรคจิต (Psychosis)
อาการโรคจิตที่พบบ่อย คือ การหลงผิดชนิดหวาดระแวง อาการประสาทหลอน ความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กลุ่มอาการโรคจิตในผู้สูงอายุ อาจจะเกิดจากโรคจิตเภท โรคหลงผิด โรคอารมณ์แปรปรวน ภาวะเพ้อ สับสน ภาวะสมองเสื่อม หรือจากโรคทางกาย ยา และสารเสพติดต่างๆ การรักษาโรคที่เป็นเหตุเป็นสิ่งสำคัญ การใช้ยาต้านโรคจิต พึงต้องระวังเพราะผู้ป่วยสูงอายุมักเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยามากกว่าในวัยหนุ่มสาว ดังนั้นแพทย์จึงจะให้ยาในขนาดต่ำก่อนและปรับยาอย่างช้าๆเพื่อควบคุมอาการผู้ป่วย - ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการรู้คิดในการทำงานของสมองหลายๆ ด้านซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงานและการประกอบกิจวัตรประจำวัน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความจำระยะสั้นไม่ดี เช่น ลืมวันนัด ลืมสิ่งของบ่อยๆ พูดซ้ำ ถามซ้ำ เรียกชื่อสิ่งของและชื่อคนที่คุ้นเคยไม่ถูก หลงทางเวลาเดินทางออกนอกบ้านคนเดียว
ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติของอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดก้าวร้าว มีพฤติกรรมแปลกไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แวดล้อม หวาดระแวง หูแว่วหรือเห็นภาพหลอนร่วมด้วยสมองเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุ มีทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าผู้สูงอายุในบ้านจะมีภาวะสมองเสื่อม ญาติจึงควรพามาพบแพทย์เพื่อประเมินและรีบรักษาก็จะช่วยชะลอความเสื่อมได้ ซึ่งวิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความเสื่อม โดยอาจใช้ยาที่ชะลอการเสื่อมช่วย หรือใช้ยาเพื่อช่วยลดปัญหาพฤติกรรม แต่ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ควบคุมอาหาร ให้ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันเป็นปกติ - นอนไม่หลับ โดยทั่วไปในวัยสูงอายุ มักต้องการเวลานอนน้อยลง จากการเปลี่ยนแปลงของสรีระวิทยา ทำให้นอนหลับน้อยลง ตื่นเช้ากว่าปกติ แต่ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหานอนหลับยาก มักชอบตื่นกลางดึก ตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ทำให้กลางวันง่วง ไม่สดชื่น อ่อนเพลีย ควรได้รับการดูแลโดยหาสาเหตุของการนอนไม่หลับ ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางกาย อาทิ โรคปวดต่างๆ การปัสสาวะบ่อย หรือมีภาวะซึมเศร้า ถ้าแก้ปัญหาต้นเหตุได้ จะทำให้หลับดีขึ้น นอกจากนี้ควรฝึกการนอน คือ เข้านอนให้ตรงเวลา ตื่นตรงเวลา ไม่งีบหลับเวลากลางวัน ถ้าเข้านอนแล้วยังไมหลับ ควรลุกขึ้นมาทำโน่น ทำนี่ รอให้ง่วงจึงเข้านอนใหม่ ออกกำลังกายตอนเย็น หรือดื่มนมอุ่นๆก่อนนอนจะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
การส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
- การดูแล รักษา สุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัย การออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ว่าง หางานอดิเรกหรือสิ่งที่ตนสนใจอยากทำ
- ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประจำ พบแพทย์ปีละครั้ง
- ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทำอาหารให้บุตรหลานรับประทาน ไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ไปทำบุญที่วัด ดูโทรทัศน์ หรือออกกำลังกายร่วมกัน เป็นต้น
- ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ ไปวัด เป็นต้น จะช่วยให้มีเพื่อนใหม่ๆ ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ
การดูแลผู้สูงอายุนั้นลูกหลานและญาติพี่น้องมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุภาพจิตที่ดีและมีความสุข สามารถปรับตัวกับเรื่องต่างๆได้ดี ญาติควรดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุด้วยความรัก ความเข้าใจ ไม่ทอดทิ้ง และควรหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงาและรู้สึกมีคุณค่าเสมอ
แพทย์หญิงทัศนีย์ กุลจนะพงศ์พันธ์
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ

ความสุขของมนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้
- มีสุขภาพกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
- มีสุขภาพจิตที่ดี คือมีความสุขทางใจ
- มีฐานะการเงินที่พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ
- มีหน้าที่การงานที่มั่นคง
- มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรหรือสังคม
การจะทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีความสุขนั้น ตัวเราจะต้องมีความพร้อม และความพึงพอใจในงานที่จะทำ และต้องทำงานนั้นด้วยใจรักและทำอย่างมีความสุข
การมีสุขภาพกายที่แข็งแรง
การจะมีสุขภาพกายที่แข็งแรงนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว โดยมีหลักการดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง จะออกกำลังโดยวิธีใด อยู่ที่ความพึงพอใจ ความถนัด และความเหมาะสม
- เรื่องการรับประทานอาหาร ทานให้ครบ 3 เวลา ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ทั้งแป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ดื่มนมทุกวัน ดื่มน้ำมาก ๆ ทานพออิ่ม ลดอาหารประเภทเค็มจัด หวานจัด และของมึนเมา ทานอาหารประเภทผัก ปลา ผลไม้ เป็นหลัก ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในน้ำหนักมาตรฐาน น้ำหนักมาตรฐานมีค่าเท่ากับความสูงเป็นเซนติเมตรลบด้วย 100 ในเพศชาย และลบด้วย 110 ในเพศหญิง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วัละ 7-8 ชั่วโมง
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
- ตรวจเช็คร่างกายปีละ 1 ครั้ง
การมีสุขภาพจิตที่ดี
- ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบวินัย
- มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีคุณธรรม
- ทำจิตใจให้มีสุข มองโลกในด้านดี มีจิตใจเข้มแข็ง ร่าเริง มีความหวัง มีความภูมิใจในตัวเอง ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่มองตัวเองต่ำต้อย ไม่มีค่า
- ไม่ทำงานหนักมากไป ต้องแบ่งเวลาให้ครอบครัว และมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ
- มีงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ อย่าปล่อยเวลาว่างจนมากเกินไป
- มีเพื่อนมาก มีกิจกรรมทางสังคม
- ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ผู้ใกล้ชิด ต่อองค์กร และต่อสังคมประเทศชาติ
- รู้จักรักและรู้ให้ รวมถึงการให้เกียรติผู้อื่น
- มีจุดยืนของตนเอง มั่นคง ไม่หวั่นไหวตามกระแสหรือแรงกดดัน เป็นคนกล้าตัดสินใจ อย่าเป็นคนโลเล แต่ต้องเป็นคนยืดหยุ่น รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- รู้จักปฏิบัติตัวเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น ต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับคนที่เราอยู่ด้วย แต่เราไม่สามารถให้ผู้ที่อยู่ด้วยปรับตัวเข้ากับความต้องการของเรา
- อย่าทำงานโดยมีความรู้สึกว่าต้องเกรงใจหรือเอาอกเอาใจผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ขอให้ทำงานโดยยึดองค์กรเป็นหลัก หรือทำสิ่งที่ดี ๆ ให้กับทุก ๆ คนโดยเทาเทียมกัน
- อย่าคิดแต่เรื่องเงินและตำแหน่งหน้าที่การงานเพียงด้านเดียว เงินและตำแหน่งหน้าที่การงานก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสุขด้านจิตใจและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญกว่าเงินและตำแหน่งที่ได้มา ต้องได้มาจากการทำงานที่มีสุข
- คิดทำวันนี้ให้ดีที่สุด อนาคตเพียงแต่คิดเพื่อวางแผนไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ อดีตผิดศึกษาไว้เป็นบทเรียน
- อย่ากลัวความผิดหวังจนมากเกินไป ความผิดหวังหรือผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของคนที่ทำงาน เอาสิ่งที่เราผิดพลาดมาศึกษา เพื่อปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดความผิดซ้ำอีก
- ความกังวล ความเป็นห่วงเป็นใย เป็นเรื่องดีในคนปกติต้องมีทุกคน แต่อย่าให้มาก ต้องรู้จักจนไม่วกวน ความเครียดหรือความกังวลนั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีภัยมาถึงตัว เอาเรื่องที่เรากังวลไปศึกษาเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ความกังวลนั้นหมดไป ถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ปรึกษาบุคคลใกล้ชิดหรือผู้รู้ในเรื่องนั้น ๆ
- การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ อย่ากลัวปัญหา อย่าหนีปัญหา อย่าเก็บปัญหา คิดว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติของการทำงาน หน้าที่การงานยิ่งมาก ปัญหายิ่งมากตามมา การทำงานประสบความสำเร็จนั้น ต้องเป็นบุคคลที่แก้ปัญหาได้ดี เวลามีปัญหาเกิดขึ้น อย่าตื่นตระหนก มีสติ หาสาเหตุของปัญหา เอาปัญหามาวิเคราะห์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ที่ไม่มีผลกระทบ หรือกระทบน้อยที่สุด บางปัญหาตัดสินใจไปแล้วเกิดผลกระทบก็ต้องยอมรับ เพราะว่าไม่มีทางเลือก การตัดสินใจได้ดีนั้นอยู่ที่ข้อมูลได้รับ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์
- อยู่ในความพอดีและพอเพียง อย่าทำเกินตัวหรือเกินความสามารถ
การบริหารจัดการไปสู่ความสำเร็จ
ผู้นำองค์กรจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จนั้น จะต้องเป็นคนเก่ง คนดี และคนกล้า ต้องใช้พระคุณ ไม่ใช้พระเดช การบริหารจัดการโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
- มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน
- มีแผนปฏิบัติการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ
- วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติการ บุคลากรในองค์กรต้องมีส่วนร่วมและรับทราบ
- ให้การสนับสนุนทีมงาน ทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน กำลังใจ มีอำนาจให้คุณและให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยความเป็นธรรม
- ให้ความรู้ในงานที่จะปฏิบัติ พัฒนาทีมงานเพื่อพัฒนางานที่ปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
- มีการประชุมติดตามประเมินผลของงานเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง
- ให้ความเป็นธรรมกับบุคลากรในองค์กรอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันทุก ๆ คน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก
- เวลามีความผิดพลาดของงานเกิดขึ้น พยายามดูที่ระบบก่อน ปรับปรุงแก้ไขที่ระบบ อย่าพยายามจ้องเอาผิดกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ ถ้าหากเป็นความผิดพลาดของตัวบุคคล ให้เรียกบุคคลผู้ทำผิดนั้นมาแนะนำให้คำปรึกษาในที่ลับ
- ต้องมีระบบให้คุณและให้โทษ ทำดีต้องให้รางวัล ทำผิดระเบียบวินัยต้องกล้าลงโทษ
- บรรยากาศที่ทำงานต้องผ่อนคลาย เป็นกันเอง ที่ทำงานต้องมีความสุข
- บุคลากรในองค์กรต้องมีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตน ตรงต่อเวลา
(นายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง)
นายแพทย์ 10 วช. อดีตผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
ที่ปรึกษาสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต
รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป สิ่งที่มนุษย์เราทุกผู้ทุกนามต่างหวังและปรารถนาคือ ให้ตนมีความสุขตลอดชีวิต การจะทำให้เรามีความสุขนั้น คงหนีไม่พ้นต้องทำงานและทำความดี
ทำไมเราต้องทำงานด้วย ก็เพราะการทำงานให้เราได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส รู้สึกว่ามีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองมีคุณค่า มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทำให้ได้เห็นและเข้าใจโลกกว้าง รู้จักการวางแผนงาน บริหารเวลาและบริหารการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งได้รายได้เป็นเงิน เพื่อเลี้ยงชีพ ครอบครัว เป็นต้น สิ่งที่กล่าวมานี้คืองานอาชีพ ส่วนงานบ้านก็เป็นงานที่มีความสำคัญไม่น้อย แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้รายได้เป็นเงิน และมักดูถูกหรือมองข้าม แต่ถ้าช่วยบิดามารดาทำงานบ้าน ก็เกิดความอิ่มใจว่าเป็นลูกกตัญญู ซึ่งเงินหาซื้อมิได้ นอกจากนี้งานบ้านยังช่วยสร้างสมาธิได้ด้วย เพียงแต่ขอให้สนุกกับงานที่เราทำ นอกจากนี้งานอดิเรก เช่น การออกกำลังกาย การรดน้ำต้นไม้ การเดินเล่น วิ่งเล่น การฟังเพลง ร้องเพลง การดูโทรทัศน์ เป็นต้น ต่างก็ทำให้จิตใจเราผ่อนคลายจากความเครียด เกิดความสุขกายสุขใจได้ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าทำงานแล้วสร้างสุขได้ งานทุกงานต่างมีความสำคัญในตัวของมันเองทุกงาน ขอให้เราภูมิใจและสนุกกับงานที่เราทำ แม้จะเป็นงานกวาดถนนใครว่าไม่สำคัญ ขอเป็นแรงใจและเชียร์ให้ทำงานต่อ ถ้าทำงานได้สำเร็จจริงอย่าลืมให้กำลังใจต่อตนเองด้วยการชมตัวเราเองบ้าง
การจะทำงานให้ได้ดีต้องมีความซื่อสัตย์ต่องานและต่อตนเอง ต้องรับผิดชอบในงานที่ทำ พยายามเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เจ้านายและลูกน้อง ถ้ามีงานมากให้พยายามทำงานให้เสร็จทีละอย่าง หางานอื่นที่ไม่ใช่งานประจำทำบ้าง รู้จักปรึกษาหารือกับผู้อื่น ไม่หวังว่าจะได้ทุกอย่างที่เราต้องการ ไม่หวังจากคนอื่นมากเกินไป รู้จักยอมแพ้บ้างตามโอกาสอันควร หลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์ที่ทำให้เราเครียด เป็นผู้ที่มีอารมณ์ขันบ้าง ฝึกมองโลกในแง่ดี ทำกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จัดเวลาทำงาน จัดเวลาเข้าสังคมกับผู้คน รู้จักใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม ต้องพัฒนาตนเองด้วยการใฝ่รู้ศึกษาต่อเนื่อง ทั้งความรู้ในวิชาชีพของตนและความรู้รอบด้านอย่างยั่งยืนตลอดชีวิต เพราะความรู้ปัจจุบันก้าวหน้ารวดเร็วมาก เราจะหาความรู้ได้ง่ายจาก การอ่านมาก ดูมาก ฟังมาก และทำมาก ความรู้หาได้จากตำรา วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น เนื่องจากมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เราต้องคิด ทำความเข้าใจ สังเคราะห์ถึงวิธีการที่จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วลงมือทำซ้ำ ๆ ก็จะเกิดความชำนาญ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญญา
ปัจจุบันงานมาก คนทำงานน้อย ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ได้ค่าตอบแทนน้อย ก็ขอให้คิดแบบให้กำลังใจว่า เราทำงานได้มากขึ้น สนุกขึ้น และที่สำคัญไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือหลงลืมก่อนวัยอันควร และไม่มีใครสามารถขโมยความรู้จากเราไปได้
เมื่อเริ่มต้นทำงาน ในช่วงปีแรก ๆ ได้รับเงินเดือนน้อย ให้คิดว่างานเพิ่งเริ่มต้น รายได้ไม่มาก การใช้จ่ายให้ข้ามเดือนได้ก่อน พร้อมกับมีเงินเหลือเก็บบ้างไม่ต้องมาก เก็บได้ หนึ่งร้อย ห้าร้อย เป็นพันหรือเป็นหมื่น ก็ให้สะสมไว้ก่อน อย่าดูถูกว่าเก็บเงินได้น้อย เพราะหนึ่งบาทไทยมีค่าเท่ากับหนึ่งบาทไทย ให้ภูมิใจกับผลงานเราก่อน เมื่อทำงานผ่านไป 10 ปี 20 ปี ก็จะเก็บเงินได้เป็นก้อน บางคนเก็บได้เป็นก้อนโตบ้าง ไม่โตบ้าง แต่ก็ไม่ใช่น้อย ข้อสำคัญ อย่าท้อถอย อย่าหมดหวังหรือกำลังใจ ให้สนุกและพอใจกับงานที่เราทำ ให้อดทน ให้ทำงานและทำความดี
เมื่อถึงเวลาที่เรามีเงินสะสมพอ สามารถผ่อนส่งสิ่งที่จำเป็น เช่น การซื้อรถ เครื่องอำนวยความสะดวก หรือซื้อที่อยู่อาศัยก็ทำได้ง่ายขึ้น พอมีเงินอย่าหาบัตรเครดิตติดตัวไว้หลายใบ เพราะจะใช้จ่ายไม่ทันระวัง อย่าเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยเกินไป บางคน 6 เดือนเปลี่ยนไป 10 รุ่น การดำเนินชีวิตให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มีหลักพิจารณา คือ มีความพอประมาณ ที่ไม่น้อยหรือมากเกินไป, มีเหตุผลในการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น, เงื่อนไขในการตัดสินใจและดำเนินกิจการ ประกอบด้วย ความรอบรู้ทางวิชาการ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ ตระหนักในคุณธรรม รู้ถูกรู้ผิด มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทนและความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น มีการแบ่งปันเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สำหรับแนวปฏิบัติพัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกับความสมดุล และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน ถ้าเรายึดและปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะนำไปสู่ความร่ำรวยที่ยั่งยืนและมีกินตลอดชีวิต เมื่อเราหาเงินมาได้ เราต้องรู้จักเก็บใช้หนี้ ทำบุญทำทาน บริจาคตามความเหมาะสม ชีวิตก็จะมีความสุข จำไว้ว่าการไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น เป็นลาภอันประเสริฐ
พอเราโตขึ้น ขอให้อยู่อย่างพรหม มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา อย่าลืมนะครับ พวกเราต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและผู้เบิกบาน ถ้าทำดีแล้วไม่ได้ดีก็ขอให้คิดว่าทำดีเพื่อความดีนะครับ ให้ยึดศาสนาเพราะทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี
การทำงานหรือการดำเนินชีวิต ถ้าจะไม่ให้เครียด ต้องแบ่งเวลาทำทั้ง 4 กิจกรรมหลัก คือ ทำงาน คบเพื่อน หาความรู้และเล่น ถ้ายังเครียดให้ใช้วิธีคลายเครียด คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกาย และหากิจกรรมผ่อนคลายทำ
ชีวิตที่ผ่านไปอย่าได้ลืมศึกษาประวัติศาสตร์ เวลาเห็นตึกสูงสวยงามอย่าลืมเสาเข็มที่อยู่ใต้ตึก ทำอะไรขอให้คิดตอบแทนคุณแผ่นดินที่เราอาศัย ที่เราเกิดอันเป็นที่รักของพวกเราด้วย
เมื่อเราทำงานอยู่กับปัจจุบันโดยใช้การทำในสิ่งที่ดี คิดดี พูดดี ทำดี คือคุณธรรม และมีมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์แห่งความประพฤติที่ถือว่าถูกต้อง กฎเกณฑ์ที่สังคมเห็นว่าควรประพฤติ เพราะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม เป็นระบบทำความดีและละเว้นความชั่ว คือจริยธรรม มาร่วมกำกับ จะทำให้ชีวิตส่วนตัว การงาน ครอบครัว และประเทศไทยของเรา มีความสุขร่มเย็น เป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาให้เจริญขึ้นและยั่งยืน
ขอให้ทุกท่านที่ทำงาน ทำความดี คือทำงานดี จงมีแต่ความสุขทุกทิวาราตรี
นายแพทย์ธีระ ลีลานันทกิจ
รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ

การติดสารเสพติดถือเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง มีปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่นอนเป็นโรคร้ายแรง รักษาให้หายขาดได้ยาก มักจะติดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกาย ต่อชีวิตและครอบครัว ส่งผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อมิให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติด
- การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงที่สามารถวิจัยและพิสูจน์ว่าได้ผลเสมอโดยทั่วไปแบ่งการป้องกันออกมาเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- การป้องกันด่านแรก (primary prevention) ป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดโรคคือป้องกันไม่ให้ทดลองใช้ยานั่นเอง
- การป้องกันด่านที่ 2 (secondary prevention) ป้องกันไม่ให้มีการใช้ยาต่อไป ในกรณีที่มีการลองยาเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มรการเปลี่ยนแปลงทางสมอง จิตใจ และทางสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่โรคติดสารเสพติดในที่สุด
- การป้องกันด่านสุดท้าย (tertiary prevention) ป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง โดยป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายต่อชีวิต จิตใจ และสังคม ทำได้โดยการให้การบำบัดเสียเนิ่นๆ
การป้องกันจะต้องทำครบทั้ง 3 อย่าง จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้ และจำนวนผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ติดยาเสพติดก่อนอายุ 16 ปี จึงควรป้องกันในระดับเยาวชนเป็นสำคัญ
สาเหตุของการติดยาเสพติด
อธิบายได้ด้วยทฤษฎี “ชีวะจิตตะสังคม” (bio-psycho-social model of addiction)
- ตัวบุคคล ได้แก่ ความเปราะบาง (vulnerability) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะติดยา หรือเป็นความฉับไวทางพันธุกรรมต่อการติดยา แต่เราสามารถสร้างปัจจัยทางบวกเพื่อให้อิทธิพลของกรรมพันธุ์ลดน้อยหรือหายไป และเรายังสามารถที่จะลดปัจจัยทางลบเพื่อลดอิทธิพลของพันธุกรรมได้อีกด้วย ถึงแม้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมสูง แต่ถ้าไม่ทดลองยาเสพติดก็ไม่มีโอกาสติดยา
- สารที่เป็นยาเสพติดนั้น จะต้องเข้าไปออกฤทธิ์ที่สมองบางส่วน ทำให้มีการหลั่งสารเคมีบางอย่าง ออกมามากมาย สารเคมีเหล่านี้ทำให้มีความสุข ลดความรู้สึกทุกข์ได้ เมื่อใช้ยาบ่อยๆ สมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องพึ่งยาเสพติดเท่านั้น จึงจะอยู่ได้
- สารบางอย่างจะออกฤทธิ์แรง จึงทำให้ติดง่าย
- แม้จะไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม หากใช้ยาเสพติดบ่อยๆเข้า สมองจะเปลี่ยนสภาพไป ทำให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติดได้เช่นกัน การป้องกันต้องเน้นการสร้างทักษะในการแสวงหาความสุขและลดความทุกข์โดยไม่ใช้ยาเสพติด
3. สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อการติด 25%
- สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ จะเป็นการสร้างปัจจัยทางบวก และลดปัจจัยทางลบต่อการติดยา
- สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวชักนำให้ “ตัวบุคคล” มาพบกับ “ตัวสาร” คือทำให้เกิดการลองยา
- สิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวเกื้อหนุนให้มีการใช้ยาต่อไป
การป้องกันจึงต้องเข้าใจและการจัดการกับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมจึงจะได้ผลได้
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิค “ 10 สร้าง ” หัวใจของการเลี้ยงลูกให้พ้นภัยยาเสพ คือ การสร้าง “สิบสร้างทรงพลัง” ซึ่งนำไปปฏิบัติได้ง่ายไม่สลับซับซ้อน เรียนรู้และฝึกหัดกันได้ไม่ยากนัก ได้แก่
สร้างที่หนึ่ง คือ “สร้างเวลาที่มีคุณภาพ”
สภาวะสังคมปัจจุบันแม้ว่าจะบีบรัดทุกคนรีบร้อน เวลาหายากต่างคนต่างไปตั้งแต่เช้ามืดจวบเย็นค่ำ แทบไม่เห็นหน้ากัน แต่การให้เวลาซึ่งกันและกันในครอบครัวไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน ขอให้เป็นเวลาที่มีความหมาย คือใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า เป็นประโยชน์ เป็น “เวลาคุณภาพ” มีเวลาให้กันวันละนิด จิตแจ่มใสถ้วนทั่วในครัวเรือน
สร้างที่สอง คือ “สร้างการสื่อสารที่มีคุณภาพ”
ในสังคมปัจจุบันนี้ ช่องว่างระหว่างรุ่นมีมากเหลือเกิน พ่อแม่จะใช้สิทธิที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” สั่งสอนหรืออบรมลูกวัยรุ่นให้ “เห็นดี เห็นชอบ” โดยไม่คำนึงถึงสังคมของลูก คงไม่ได้ผลดีนัก บ่อยครั้งที่ลูกรักจะมีปฏิกิริยาโต้กลับแบบ “ต่อหน้ารับฟัง ลับหลังดื้อรัน” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างระบบการสื่อสารแบบไปกลับสองทาง รู้จักพูด รู้จักฟัง รู้จักออกความเห็น รู้จักวิจารณ์ รู้จักชม รู้จักตำหนิ รู้จักรับรู้ในความรู้สึกของผู้อื่น เรียกว่าฝึกลูกและตนเองให้ “พูดกันรู้เรื่อง” หันมาฟังลูกและรับรู้ในความรู้สึกและความนึกคิดของลูกได้ จะดียิ่ง
สร้างที่สาม คือ “สร้างการรู้คุณค่าของตัวเอง”
มีผู้วิจัยพบว่าเด็กที่มีมุมมองในแง่ดีต่อตนเอง รู้แจ้งเห็นจริงในจิตสำนึกว่า “ของดีตนมีอยู่” ไม่โอ้อวดแต่มีศักดิ์ศรี มีโอกาสติดยาเสพติดน้อยมาก สิ่งดีเหล่านี้ได้มาจากการฝึกให้มองตนเอง มองพ่อแม่ พี่น้อง มองผู้อื่น และมองโลกในแง่ดี จึงควรฝึกลูกให้นึกถึงแต่สิ่งดีงามประจำตัว วันละข้อสองข้อจนติดเป็นนิสัย ฝึกให้รู้จักชมสมาชิกในครอบครัววันละอย่างสองอย่าง ฝึกให้รู้จักมองเห็นข้อดีของคนอื่น ฝึกให้รู้จักให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยความจริงใจ ไม่ประจบสอพลอ “คิดดี”ต่อตัวเองเท่าไร ย่อมไม่ลองยาเสพติดเท่านั้น ให้ส่งจิตสู่ใจด้วยไมตรีเป็นนิจศีล
สร้างที่สี่ คือ “สร้างกฎระเบียบในบ้าน”
ให้มีกฎเกณฑ์และกติกาการอยู่ร่วมกัน โดยทำความตกลงกันก่อน วางกฎการไม่ใช้ยาเสพติด รวมทั้งบุหรี่หรือเหล้า วางข้อยกเว้นให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ วางข้อลงโทษที่นำไปปฏิบัติได้ ไม่ออกกฎและลงโทษตามอารมณ์หรือเกินกว่าเหตุ เช่น ตัดขาดจากความเป็นแม่ลูกกัน ไม่ใจอ่อนเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงโทษ มีกฎระเบียบเกี่ยวกับยาเสพติดในบ้านให้ชัดเจน จึงจะดี
สร้างที่ห้า คือ “สร้างหน้าที่และความรับผิดชอบ”
โดยแบ่งงานบ้านให้ทำ เพื่อฝึกให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ฝึกให้รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเริ่มจากทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ฝึกให้รู้จักช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสกว่า เป็นการลดความเห็นแก่ตัวซึ่งจะเพิ่มศักดิ์ศรีของตนเองและยังส่งผลให้ “ดูแลตัวเอง” ในภายหลัง หัดให้ลูกทำงานบ้านและเสียสละเป็นบ้าง
สร้างที่หก คือ “สร้างทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์”
ความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ได้แก่ อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย มักเป็นแม่เหล็กยักษ์ผลักลูกให้เข้าหายาเสพติด จึงจำเป็นต้องฝึกลูกให้รู้จักจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ ฝึกให้รู้ว่าเมื่อไรเครียดหรือมีอารมณ์ไม่ดี รู้ถึงผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม รู้จักหาสาเหตุและฝึกวิธีคลายเครียดและระบายอารมณ์ให้เป็น พ่อแม่ควรถามทุกข์สุขของลูกอยู่เสมอ ช่วยให้ลูกรู้จักอ่านความเครียดและอ่านอารมณ์ของผู้อื่น ฝึกให้รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หมั่นฝึกซ้อมกับลูกเพื่อให้เกิดทักษะในการผ่อนคลายความเครียดและระบายอารมณ์ให้เหมาะสม ฝึกลูกให้เก่งในการจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ดีแน่ๆ
สร้างที่เจ็ด คือ “สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของลูก”
ครอบครัวปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ ถือเพื่อนเป็นเรื่องใหญ่ ลูกยังด้อยประสบการณ์ในชีวิต โอกาสคบเพื่อนผิดมีมาก พ่อแม่จึงต้องรู้จักกับเพื่อนและสังคมนอกบ้านของลูก ฝึกให้แยกเพื่อนดีออกจากเพื่อนชั่ว พร้อมช่วยลูกยามที่คบเพื่อนผิด ควรรู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกด้วย จะได้เป็นแนวร่วมปรึกษาและอาจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อลูกร่วมกัน รู้จักแหล่งสถานที่เสี่ยงต่อการเสพสารเสพติดและสิ่งมึนเมา เพื่อชี้แนะให้ลูกหลบหลีก รู้จักสังคมออนไลน์บนโลกอินเตอร์เน็ตคอมพิวเตอร์เช่นการที่ลูกใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆทั้งวันคุยกับเพื่อนจนพฤติกรรอารมณ์เปลี่ยนไปไม่เหมาะสม นั้นจึงจะเรียกว่า “รู้จักสังคมของลูกดีจริง”
สร้างที่แปด คือ “สร้างความรู้เรื่องยาเสพติดให้แก่ลูก”
มีการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับความรู้เรื่องยาเสพติดจากพ่อแม่โดยตรงกว่า 40% จะไม่ลองยา และเด็กส่วนใหญ่อยากจะได้รับความรู้ด้านนี้จากพ่อแม่มากกว่าเพื่อนฝูง พ่อแม่จึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด หาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อพูดคุยกับลูก ให้ข้อเท็จจริงเจาะลึกผลดี-ผลเสีย และให้ลูกแสดงความคิดเห็นและสิ่งที่เขาเรียนรู้มาจากเพื่อนให้ความรู้เรื่องยาเสพติดแก่ลูกดีแน่แท้
สร้างที่เก้า คือ “สร้างทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ”
ฝึกลูกให้ “คิดเป็น” คือรู้จักแยกแยะปัญหา รู้จักหาทางแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นไปได้ รู้จักไตร่ตรองถึงข้อดีและข้อเสีย โดยชั่งน้ำหนักผลกระทบและรู้จักทำการตัดสินใจโดยมีสติปัญญากำกับ ให้ฝึกทักษะด้านนี้จากชีวิตจริงของลูก โดยพ่อแม่สนับสนุนให้นำปัญหามาถกเถียงหาสาเหตุและทางแก้ไข เมื่อพลาดผิดไป ช่วยลูกให้รู้จักหาสาเหตุและยึดไว้เป็นบทเรียน ฝึกลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ตัดสินใจเป็น
สร้างที่สิบ คือ “สร้างทักษะการปฏิเสธยาเสพติด”
ต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้ว่าการปฏิเสธเป็น คือสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของผู้ใหญ่ที่กล้าหาญ เด็กทั่วไปเมื่อเผชิญกับสิ่งยั่วยุ และแรงกดดันให้ใช้ยา มักวางตัวไม่ถูก ตกเป็นเหยื่อชักจูงให้ลองยาได้ง่าย พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมกับลูกอยู่เสมอ โดยสมมติเหตุการณ์ขึ้น เล่นละครซ้อมบทกันให้สมจริง เพื่อให้ลูกรู้จักเทคนิคปฏิเสธยาในสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ฝึกลูกให้รู้จักสถานที่ ยั่วยุให้ใช้ยา ฝึกให้ลูกรู้จักผลกระทบที่แท้จริงของสื่อโฆษณาและการเผยแพร่ซุปเปอร์สตาร์ที่ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่หรือเสพยาเสพติด ว่าการเลียนแบบสื่อหรือดารามีผลร้ายอย่างไรบ้าง ฝึกลูกให้มีทักษะในการปฏิเสธสารเสพติดอย่างได้ผล
อย่าได้ท้อแท้ใจว่า “สิบสร้าง” นี้ทำยากเพราะไม่มีเวลา รักลูกเสียอย่างเวลาหาได้แน่ หมั่นสร้างสิบสิ่งนี้ จะป้องกันลูกให้พ้นภัยยาเสพติดได้แน่นอน ลูกจะเติบโตเป็นคนคิดเป็น ดูแลตัวเองเป็น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำการงานสำเร็จเป็นคนดีและมีชีวิตที่เป็นสุข
อ้างอิงจาก
ทรงเกียรติ ปิยะกะ. 2543. คู่มือการป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสา สำหรับประชาคมไทย. กรุงเทพฯ:ธนาเพรส.
ทรงเกียรติ ปิยะกะ. (2444). เลี้ยงลูกอย่างไรให้พ้นภัยยาเสพติด.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน.
แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชยาเสพติด
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
ผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด
กรมสุขภาพจิต